วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน


"กองทุนหมู่บ้าน" ไม่ใช่เงิน !
"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินมากนัก

   กองทุนนี้ประกอบด้วย ทุนที่เป็นคนแต่ละคน ทุนทางสังคมที่ถักทอคนแต่ละคนมาเป็นกลุ่มคนหรือสังคม ทุนทางวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่บรรสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทุนทางศีลธรรม หมายถึงความถูกต้องแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเชื่อถือและไว้วางใจกันได้ ความสุจริต ความเสียสละ ทุนทางทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไร่นา วัวควาย ที่มีการอนุรักษ์ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทุนทางปัญญา ได้แก่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และความรู้จากภายนอกชุมชน มาสังเคราะห์เป็นปัญญาและการจัดการเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกชุมชน เป็นไปอย่างรักษาความสมดุลไว้ได้ เพื่อความเป็นปรกติและยั่งยืน ทุนที่เป็นเงิน อันช่วยกันออมไว้เพื่อให้กระบวนการออมและการจัดการรวมทั้งตัวเงิน เป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมสร้างทุนที่ไม่ใช่เงิน ๖ ประการ

  ทุนที่ไม่ใช่เงิน คือ คน สังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ทรัพยากร และ ปัญญา ถูกถักทอเข้าด้วยกัน "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" (nonmonetary values) คือความใกล้ชิด ความเอื้ออาทรต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสุจริต ความเสียสละ คุณค่าที่ไม่ใช่เงินนี้มีพลังผูกพันเข้าไว้ด้วยกัน คุณค่านี้อาจเรียกว่าเป็น "ธรรมะแห่งการถักทอ"

  ชุมชนจะก่อตัวขึ้นมาเองด้วย "ธรรมะแห่งการถักทอ" งอกงามและเติบโตไปโดยธรรมชาติ เป็นองค์กรโดยธรรม องค์กรโดยธรรมทำให้ทุกคนมีความสุขและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับองค์กรโดยอำนาจที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ว่าในทางการเมือง ราชการ การศึกษา ศาสนา หรือธุรกิจ ซึ่งบีบคั้น ไม่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดความเครียด

   อำนาจและเงินที่เข้าทำลาย "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" และทำลายความเข้มแข็งของชุมชน หรือทำให้ความเป็นชุมชนไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเข้าใจใช้เงินให้ไปหนุนคุณค่าที่ไม่ใช่เงินเงินก็มีประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนได้

  ผู้ที่เข้าไปทำงานชุมชนจะมีแต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่ได้ทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการแก้ไขความยากจนของคนชนบทเพราะอาศัยแต่เจตนาดีและเงินมหาศาลความเข้าใจธรรมชาติของการก่อตัวเองของชุมชนเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญถ้าช่วยกันทำความเข้าใจก็จะเกิดอานิสงฆ์
มหาศาล ที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสภาวะวิกฤต

ประเวศ วะสี
24 มิถุนายน 2544   กว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
   นับจาก พ.ศ. 2504 ประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ สังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-7 ที่ผ่านมาเกิดจากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความได้เปรียบด้านแรงงานที่มีราคาถูกและมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ของประเทศมาใช้สนับสนุนการพัฒนาและขยายฐานการผลิตทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่สูง แต่การเติบโตดังกล่าวนอกจากจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยทรัพยากร ธรรมชาติที่ร่อยหลอ และเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมากและต้องมีการลงทุน เทคโนโลยีและการตลาดจากต่างประเทศ ในขณะที่ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ของประเทศทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพของคน การบริหารจัดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเสริมสร้างฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและประสิทธิภาพโดยรวม ของการพัฒนาประเทศอันจะนำไปสู่ขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ส่วนปัญหาที่เกิดตามมา คือ ความขัดแย้งในสังคมจากการ เลื่อมล้ำของรายได้และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาจะกระจุกอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง และชุมชนด้านอุตสาหกรรม ไม่เกิดการกระจายการพัฒนาสู่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดการอพยพปัจจัยการผลิตของชุมชนโดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งส่งผลถึงการแยกคนออกจากชุมชน ทำให้สรุปได้ว่าแม้การพัฒนาเศรษฐกิจจะบรรลุผลตาม ความมุ่งหมาย แต่ความสำเร็จดังกล่าวได้นำไปสู่ผลการพัฒนา ที่ไม่พึงปรารถนาทางด้านสังคม และการพัฒนานั้นอาจจะไม่ยั่งยืน เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน


 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น