วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน


"กองทุนหมู่บ้าน" ไม่ใช่เงิน !
"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินมากนัก

   กองทุนนี้ประกอบด้วย ทุนที่เป็นคนแต่ละคน ทุนทางสังคมที่ถักทอคนแต่ละคนมาเป็นกลุ่มคนหรือสังคม ทุนทางวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่บรรสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทุนทางศีลธรรม หมายถึงความถูกต้องแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเชื่อถือและไว้วางใจกันได้ ความสุจริต ความเสียสละ ทุนทางทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไร่นา วัวควาย ที่มีการอนุรักษ์ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทุนทางปัญญา ได้แก่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และความรู้จากภายนอกชุมชน มาสังเคราะห์เป็นปัญญาและการจัดการเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกชุมชน เป็นไปอย่างรักษาความสมดุลไว้ได้ เพื่อความเป็นปรกติและยั่งยืน ทุนที่เป็นเงิน อันช่วยกันออมไว้เพื่อให้กระบวนการออมและการจัดการรวมทั้งตัวเงิน เป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมสร้างทุนที่ไม่ใช่เงิน ๖ ประการ

  ทุนที่ไม่ใช่เงิน คือ คน สังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ทรัพยากร และ ปัญญา ถูกถักทอเข้าด้วยกัน "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" (nonmonetary values) คือความใกล้ชิด ความเอื้ออาทรต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสุจริต ความเสียสละ คุณค่าที่ไม่ใช่เงินนี้มีพลังผูกพันเข้าไว้ด้วยกัน คุณค่านี้อาจเรียกว่าเป็น "ธรรมะแห่งการถักทอ"

  ชุมชนจะก่อตัวขึ้นมาเองด้วย "ธรรมะแห่งการถักทอ" งอกงามและเติบโตไปโดยธรรมชาติ เป็นองค์กรโดยธรรม องค์กรโดยธรรมทำให้ทุกคนมีความสุขและสร้างสรรค์อย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับองค์กรโดยอำนาจที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ว่าในทางการเมือง ราชการ การศึกษา ศาสนา หรือธุรกิจ ซึ่งบีบคั้น ไม่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดความเครียด

   อำนาจและเงินที่เข้าทำลาย "คุณค่าที่ไม่ใช่เงิน" และทำลายความเข้มแข็งของชุมชน หรือทำให้ความเป็นชุมชนไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเข้าใจใช้เงินให้ไปหนุนคุณค่าที่ไม่ใช่เงินเงินก็มีประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนได้

  ผู้ที่เข้าไปทำงานชุมชนจะมีแต่เจตนาดีอย่างเดียวไม่ได้ทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการแก้ไขความยากจนของคนชนบทเพราะอาศัยแต่เจตนาดีและเงินมหาศาลความเข้าใจธรรมชาติของการก่อตัวเองของชุมชนเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญถ้าช่วยกันทำความเข้าใจก็จะเกิดอานิสงฆ์
มหาศาล ที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสภาวะวิกฤต

ประเวศ วะสี
24 มิถุนายน 2544   กว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
   นับจาก พ.ศ. 2504 ประเทศไทยได้กำหนดให้มีแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ สังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-7 ที่ผ่านมาเกิดจากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความได้เปรียบด้านแรงงานที่มีราคาถูกและมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ของประเทศมาใช้สนับสนุนการพัฒนาและขยายฐานการผลิตทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่สูง แต่การเติบโตดังกล่าวนอกจากจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยทรัพยากร ธรรมชาติที่ร่อยหลอ และเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมากและต้องมีการลงทุน เทคโนโลยีและการตลาดจากต่างประเทศ ในขณะที่ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ของประเทศทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพของคน การบริหารจัดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเสริมสร้างฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและประสิทธิภาพโดยรวม ของการพัฒนาประเทศอันจะนำไปสู่ขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ส่วนปัญหาที่เกิดตามมา คือ ความขัดแย้งในสังคมจากการ เลื่อมล้ำของรายได้และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาจะกระจุกอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง และชุมชนด้านอุตสาหกรรม ไม่เกิดการกระจายการพัฒนาสู่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดการอพยพปัจจัยการผลิตของชุมชนโดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งส่งผลถึงการแยกคนออกจากชุมชน ทำให้สรุปได้ว่าแม้การพัฒนาเศรษฐกิจจะบรรลุผลตาม ความมุ่งหมาย แต่ความสำเร็จดังกล่าวได้นำไปสู่ผลการพัฒนา ที่ไม่พึงปรารถนาทางด้านสังคม และการพัฒนานั้นอาจจะไม่ยั่งยืน เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน


 


 


เศรษฐกิจชุมชน : ความหมาย ฐานคิด แนวทางปฏิบัติ

         ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่กลางปี 2540 และพระราชดำรัสของในหลวง ซึ่งพระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ประกอบกับปรัชญาของแผนฯ 8 ที่เน้นการพัฒนา “คน” และรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อ “ชุมชนท้องถิ่น” ได้สร้างกระแสอย่างกว้างขวางให้สังคมกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนของชุมชนในชนบท
         ในช่วงปี 40 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศไมได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในชนบท หรือ “เศรษฐกิจของฐานล่าง” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของประชากรส่วนใหญ่ จึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
         ดังนั้น ควรเร่งปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับพระราชดำรัสที่ว่า “มันต้องถอยหลังเข้าคลอง มันจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนมากนักคือ ใช้เครื่องมือที่ไม่หรูหรา….ต้องถอยหลังเพื่อจะก้าวหน้าต่อไป” โดยการพัฒนา “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” ตามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่”
ทฤษฎีใหม่         หลักสำคัญของ “ทฤษฎีใหม่” มี 3 ขั้นตอนคือ
         ขั้นที่ 1 (พอเพียงในระดับครอบครัว) : ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวเองได้ระดับชีวิตที่ประหยัดก่อนผลิต เพื่อให้บริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น
         ขั้นที่ 2 (พอเพียงในระดับชุมชน) : ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา และศาสนา
         ขั้นที่ 3 (พอเพียงในระดับประเทศ) : ติดต่อร่วมมือกับองค์กรธุรกิจ เช่น แหล่งเงิน (ธนาคาร) และแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) เป็นต้น ในการทำธุรกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัทจะได้รับประโยชน์
         ที่มา : พระราชดำรัส : คู่มือการดำเนินชีวิตสำหรับประชาชน ปี 2541 และทฤษฎีใหม่
ความหมาย         เศรษฐกิจชุมชนที่พึงปรารถนา คือกิจกรรมเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ที่คนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ โดยการพัฒนาจากฐานของ “ศักยภาพของท้องถิ่น” หรือ “ทุนในชุมชน” ซึ่งร่วมถึงเงินทุน แรงงาน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ วัด ที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทาง   ชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ฯลฯ
         เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ซึ่งจะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

บทบาทของประชาชนในชุมชน



การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชส เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ของชาวบ้าน ต่อการดูแลสุขภาพของชุมชน ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการมีส่วนร่วม คือ สัมพันธภาพที่ดี ความไว้วางใจ และการยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแสดงออก ถึงความจริงใจ ของเจ้าหน้าที่สุขภาพ ก็มีส่วนทำให้ชาวบ้าน อยากเข้าร่วมในโครงการ ด้วยความสมัครใจ บรรยากาศในการทำงานร่วมกัน จึงเป็นไปอย่างราบรื่น ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้
1. การทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสุขภาพ เพื่อหาเงินทุนมาดำเนินงาน เพื่อสุขภาพต่อไป และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นงานบุญ ทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือ ทั้งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมทุนทรัพย์ ให้งานบรรลุเป้าหมาย เพราะนอกจากชาวบ้าน จะได้รับความสนุกสนานรื่นเริง จากการจัดงานแล้ว รายได้จากการร่วมทำบุญ ยังสามารถนำมาเป็น "กองทุนสุขภาพชุมชน" ในการนำมาพัฒนาชุมชน ด้านสุขภาพต่อไปอีกด้วย
2. ชมรมส่งเสริมสุขภาพชุมชน สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้สนใจสุขภาพ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และดูแลสุขภาพ มีอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยวัดความดันโลหิต และร่วมกิจกรรม การสวดมนต์ไหว้พระ และนั่งสมาธิ การให้ความรู้สุขภาพ การออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เช่น ร้องเพลง รำวง เป็นต้น
3. ส่งเสริมการบริโภค และผลิตนมถั่วเหลืองในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้าน ได้ดื่มนมถั่วเหลืองอย่างทั่วถึง ด้วยการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง และสอนวิธีการทำนมถั่วเหลือง บริโภคในครอบครัว พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ผู้สนใจที่จะทำอาชีพเสริม ทำให้ชุมชนสามารถมียมถั่วเหลืองให้กับเด็ก ที่ขาดสารอาหาร ทั้งผู้สูงอายุได้บริโภคในราคาที่ถูก
4. ส่งเสริมการนวดแผนไทย เพื่อช่วยลดปัญหาการปวดเมื่อยกระดูก และกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ และชาวบ้านทั่วไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต การนวดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของชาวบ้าน แทนการรับประทานยาแก้ปวด หรือยาสมุนไพร ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น การจัดอบรมการนวดให้คนในชุมชน เพื่อมาเปิดให้บริการนวด แก่ชาวบ้านในชุมชน จึงน่าจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยลดปัญหาการบริโภคยา ที่เกินความจำเป็น ของชาวบ้านลงได้
5. ส่งเสริมการปลูก และใช้สมุนไพรในชุมชน โดยเริ่มต้นจากการแปรรูปสมุนไพร ที่มีวัตถุดิบมากในชุมชน เช่น ขมิ้น และฟ้าทะลายโจร อัดแคปซูล ขี้ผึ้งไพล เป็นต้น พร้อมกับการส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรเหล่านั้น ควบคู่ไปกับไม้ยืนต้น และไม้ผล เป็น "สวนผสม" และมีการขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกในสวนด้วย จากนั้นควรนำคณะทำงานไปดูงานที่ต่างๆ เช่น ศูนย์การแพทย์แผนไทย หรือหมู่บ้านอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตสมุนไพร ทำให้กลุ่มสามารถพัฒนา การผลิตสมุนไพร ทำให้กลุ่มสามารถพัฒนาการผลิตสมุนไพรดีขึ้น และเจ้าหน้าที่สุขภาพต้องมีส่วนร่วม ในการควบคุมความสะอาด และช่วยประชาสัมพันธ์ เป็นการส่งเสริมการใช้สมุนไพร และช่วยให้ชาวบ้านบางคน มีอาชีพเสริม และมีรายได้เพิ่มขึ้น
6. กิจกรรมวันผู้สูงอายุ ควรจัดเป็นงานประเพณีประจำปี ของชุมชน ในวันสงกรานต์ เรื่องจากเป็นวันครอบครัว ลูกหลานได้มีโอกาสแสดงมุทิตาจิต แก่ญาติผู้ใหญ่ และให้เด็กรุ่นหลังของชุมชน ได้เห็นประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม จะได้สืบทอดต่อกันไป โดยเชิญชวนให้ชาวบ้าน นำปิ่นโตมาถวายพระ และรับพร และเชิญผู้สูงอายุทุกท่าน มาให้ลูกหลานได้รดน้ำ เพื่อแสดงมุทิตาจิต และขอพรจากท่าน พร้อมทั้งมอบของที่ระลึกต่าง ทำให้เด็กๆ ภายในชุมชนได้เห็นตัวอย่างประเพณีสงกรานต์ ที่ดีงาม มิใช่การสาดน้ำใส่กัน อย่างที่ปรากฎตามท้องถนนต่างๆ
การมีส่วนร่วมส่งเสริมสุขภาพชุมชนนั้น เจ้าหน้าที่สุขภาพมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือ ซึ่งจะเห็นว่า กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น มิได้มุ่งเน้นแต่เพียงการแก้ปัญหาสุขภาพเท่านั้น หากเป็นการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ในการพัฒนา และประชาชนเองก็เป็นตัวจักรสำคัญ ในการร่วมดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น ทั้งในส่วนของประชาชน และเจ้าหน้าที่สุขภาพ จึงต้องมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง (Community Learning) เพราะเมื่อเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ จนเป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ ทำให้เกิดพลังมหาศาล ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในสังคม ผลที่ได้จะทำให้บุคคลสามารถ นำความรู้ไปสู่การตัดสินใจ เลือกแนวทางการแก้ปัญหา ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตต่อไป และที่สำคัญ ควรมรการพัฒนาแนวคิด ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ที่ว่า บุคคลมีศักยภาพ และสามารถเรียนรู้ที่จะดูแล และพึ่งพิงตนเองได้ เพราะจะเป็นหนทาง นำไปสู่การพัฒนาชุมชน ให้เข้มแข็ง และคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไปได้
การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของชุมชน

    1. ขั้นตอนการสร้างทีมงาน มีการจัดการดังนี้ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างเจ้าหน้าที่สุขภาพ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในสาขาต่างๆ เช่น ครู พัฒนาชุมชน เกษตรชุมชน และองค์กรต่างๆ ในชุมชน โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น ทำบุญทอดกฐิน ปลูกต้นไม้ในชุมชน งานวันเด็กของโรงเรียน งานบวช และงานศพ เป็นต้น เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจ ที่มีต่อชาวบ้านในชุมชน และถ้าหากเป็นคนในท้องถิ่น และสามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ ก็จะยิ่งเป็นการดี ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย กับชาวบ้านมากขึ้น จนกลายเป็นความไว้วางใจ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ ของสถานีอนามัย การสร้างแกนนำของชาวบ้าน หรือ "ทีมส่งเสริมสุขภาพชุมชน" ด้วยการจัดประชุม อาสาสมัครสาธารณสุข กรรมการชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งชาวบ้าน เพื่อเปิดกว้างให้กับคนในชุมชนทุกคน ได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุขเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องชี้แจงจุดประสงค์ ของโครงการ บทบาท และความสำคัญของแกนนำชาวบ้าน คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความสมัครใจ เสียสละ สามารถอุทิศเวลาให้กับส่วนรวมได้ และที่สำคัญ ต้องมีความสนใจในเรื่องของสุขภาพ ทั้งของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างด้านสุขภาพ ของคนในชุมชน สามารถกระตุ้น ชักจูงชาวบ้าน ให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ และยินดีร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาของชุมชน และเป็นผู้นำในกิจกรรม การส่งเสริมสุขภาพของชุมชนได้ การให้ความรู้แก่กลุ่มแกนนำชาวบ้าน เพื่อให้กลุ่มแกนนำได้เกิดแนวคิด เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการแก้ไขปัญหาชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ของชุมชน และเป็นพื้นฐานในการทำงานต่อไป
   2. ขั้นตอนการสร้างความตระหนัก ถึงปัญหาสุขภาพของชุมชน สามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่ในที่นี้ขอเสนอด้วยวิธีการ ใช้ปัญหาเป็นหลัก (problem based) ในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาชุมชน โดยเริ่มจาก การมีส่วนร่วมสำรวจชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้รู้สภาพของ ปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง ตั้งแต่การสร้างแบบสำรวจ การกำหนดพื้นที่ และทีมงานสำรวจ การสำรวจ และการนำข้อมูลมาสรุป และมีเจ้าหน้าที่สุขภาพ เป็นพี่เลี้ยง ช่วยตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูล การระบุปัญหา และสาเหตุของปัญหา โดยกลุ่มแกนนำเป็นผู้นำเสนอข้อมูล ที่ได้จากการสำรวจ ต่อที่ประชุมชาวบ้าน และเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เสนอความคิดเห็น และปัญหาเพิ่มเติม เพื่อสรุปออกมา เป็นปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง และนำปัญหาสำคัญ มาค้นหาสาเหตุ สำหรับเป็นแนวทางในการแก้ไขต่อไป และการจัดลำดับความสำคัญ ของปัญหา ด้วยการให้ที่ประชุมร่วมกัน จัดลำดับความสำคัญของปัญหา ตามความรุนแรง และความต้องการของชุมชน เพื่อนำมาวางแผนต่อไป
   3. ขั้นตอนการวางแผน แก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชน ชาวบ้านร่วมกันเสนอความคิด และกำหนดกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สุขภาพ บนพื้นฐานของชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งการกำหนดกิจกรรม และวางแผนนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว แต่อาจกำหนดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละกิจกรรม เช่น การทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อจัดหาทุนมาใช้ในการดำเนินงาน การจัดตั้งชมรมสุขภาพชุมชน การนวดแผนไทย การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และสมุนไพรในชุมชน ส่งเสริมการผลิต และบริโภคข้ามซ้อมมือ และกิจกรรมวันผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะเมื่อสิ้นสุดในแต่ละกิจกรรม ทีมงานจะได้นำประเด็นข้อเสนอต่างๆ มาใช้ในการวางแผนงานกิจกรรมต่อไป
   4. ขั้นตอนการดำเนินการของชุมชน โดยการจัดตั้งกลุ่มทำงาน ของแต่ละกิจกรรม และดำเนินงานตามแผน โดยมีเจ้าหน้าที่สุขภาพ เป็นผู้ให้การสนับสนุน และช่วยประสานงาน ให้คณะทำงานสามารถดำเนินการได้ และมีการประชุม และประเมินผลการทำงานเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงแผนงานอย่างต่อเนื่อง 
   5. ขั้นตอนการประเมินผล และการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ หลังจากการดำเนินงานไปแล้ว 1 ปี ควรมีการประเมินภาวะสุขภาพของชุมชน ในประเด็นต่างๆ เช่น อัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยเพียงใด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างไร และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ของชุมชน เกิดขึ้นหรือไม่ และจัดทำรายงานการประเมินผล พร้อมทั้งชี้แจง และเผยแพร่ให้ชาวบ้าน ได้รับทราบถึงผลการดำเนินงาน เพื่อให้ชาวบ้านดำเนินงานต่อไป ได้อย่างมั่นใจ
                                                 รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน
    
   ในการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ เป็นทั้งกระบวนการ กิจกรรม และแนวทาง สำหรับการดำเนินงาน เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อส่งเสริม และเกื้อหนุนให้บุคคล ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนในทุกด้าน แบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสุขภาพนั้น เป็นองค์รวม ที่มาจากส่วนประกอบหลายๆ ประการ อาทิ สังคม สิ่งแวดล้อม ระบบบริการสุขภาพ และวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคล เพื่อสนับสนุน ยับยั้ง หรือกำหนดพฤติกรรมสุขภาพ ไปสู่การปฏิบัติ จึงต้องอาศัยความร่วมมือ และการระดมพลังจากทุกฝ่าย ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และการปรับปรุงสังคมด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และอื่นๆ โดยใช้กลยุทธ์การถ่ายโอนอำนาจจากรัฐ มาสู่ประชาชน ให้มีพลังอำนาจที่จะดูแลสุขภาพ และจัดการกับชุมชนของตนเอง อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ และความเป็นไปได้ ในแต่ละท้องถิ่น โดยคำนึงถึง ระบบสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันของชุมชน และเน้นการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนอย่างเต็มที่ การประชุมแพทยศาสตร์ (2542) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการมีส่วนร่วม ของประชาชน ในการส่งเสริมสุขภาพ จึงเสนอแนะระบบบริการสุขภาพ ที่จะสนับสนุน การมีส่วนร่วมของประชาชน ไว้ 3 ประการ คือ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคล ชุมชน ในการควบคุมปัจจัย ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะความเข้มแข็งของประชาชน และชุมชน จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดบริการสุขภาพมากขึ้น 2) การจัดบริการในชุมชน (community-based health services) เป็นบริการระดับปฐมภูมิ (primary care) ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด และ 3) การประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนานโยบายเพื่อสุขภาพ (public health policy) ที่จะมีผลกระทบต่อ การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ บทบาทของประชาชน มีวามสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และชุมชน โดยประชาชนจะต้องเห็นคุณค่า และผลของสิ่งแวดล้อม ต่อภาวะสุขภาพ ช่วยกันรักษา และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล ต่อการมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดี เช่น การรวมตัวกันของชุมชน เพื่อออกกำลังกาย การณรรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ หรือสิ่งเสพติด การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ และการจัดโครงการ โรงเรียนสุขภาพดี ที่ทำงานสุขภาพดี หรือชุมชนสุขภาพดี เป็นต้น องค์กรชุมชน จึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้าง และกลไกการจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และตระหนักในสุขภาพของชุมชน และมีเจ้าหน้าที่สุขภาพ ทำหน้าที่ให้ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดทักษะ การส่งเสริมสุขภาพ สอดคล้องกับแนวคิด การส่งเสริมพลังอำนาจชุมชน ที่สนับสนุนให้ชุมชนเกิดความสำนึก และพันธสัญญาต่อส่วนรวม และการเสริมสร้างให้ชุมชน ลงมือทำด้วยตนเอง อย่างต่อเนื่อง เป็นการสะสมความรู้ และประสบการณ์ จากการปฏิบัติจริง (learning by doing) และเป็นกระบวนการเรียนรู้ แบบปฏิสัมพันธ์ (interactive learning process) โดยเริ่มตั้งแต่ การสร้างทีมงาน เขียนโครงการ จัดทำแผน ดำเนินงาน ควบคู่ไปกับ กระบวนการสะท้อนความรู้สึก ของประชาชน สำหรับข้อมูลย้อนกลับ ในการปรับปรุงแผนงาน และกิจกรรมในโครงการ จนเกิดความรู้สึก เป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน ซึ่งมีส่วนเกื้อหนุนองค์กรชุมชน ให้มีความแข็งแกร่ง และมั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับ การพัฒนาโครงการส่งเสริมสุขภาพ แบบยั่งยืนต่อไป
การพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเอง
Self - Reliance Community Development

     พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนของการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 มีผลทำให้หน่วยงานของรัฐพยายามปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องพระราชบัญญัติดังกล่าว ประชาชนในชุมชนก็มีความตื่นตัวในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนมากขึ้น การกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนทำให้การพัฒนาชุมชนขึ้นอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นทั้งสิ้นและผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและโครงการ วิชาการก็คือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในชุมชนบทนั่นเอง ดังทนงศักด์ ได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ว่าต้องกระตุ้นให้ประชาชนได้รู้ ได้เข้าใจ ถึงแนวคิด หลักการวิเคราะห์ ปัญหาของชุมชน และให้ประชาชนตระหนักว่าเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนในชุมชน มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง (ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ และคนอื่น ๆ .2534: 18) การกระทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าตนเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปราย ถกเถียง พิจารณาปัญหาต่างๆ ในชุมชนของตนเองด้วย จะรู้สึกร่วมรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ เหมือนเป็นปัญหาของตนโดยแท้จริง การพัฒนาชุมชนไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้วยการจัดกิจกรรมในด้านใดย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุน ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้เป็นประการสำคัญ หากสิ่งใดเกินกว่าความสามารถของประชาชนเช่นทางด้านวิชาการและวัสดุที่จำเป็น รัฐบาลย่อมเข้าให้การช่วยเหลือเพื่อโครงการ กิจกรรมของราษฎรบรรลุผลด้วยดี ทั้งนี้โดยวิธีการ “ทำงานกับประชาชน (work with people) หมายถึงร่วมคิด ร่วมปรึกษา และร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ทำให้ประชาชน (Work for people) แต่ฝ่ายเดียว ” (จิตจำนงค์ กิติกีรติ, 2525 : 54) แนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นแนวคิดที่เหมาะสมที่เหมาะสมที่จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมของกลุ่มประเทศทางตะวันตกได้ดี เพราะอาศัยพื้นฐานวัฒนธรรมทางตะวันตกเป็นแนวคิดหลัก และทฤษฎีการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นจากการได้ประจักษ์ถึงความบกพร่องของการพัฒนาตามกระแสหลัก เช่นทฤษฎีทางพุทธศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง (ทฤษฎีใหม่) ซึ่งอาคม กล่าวว่าทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งตนเองเป็นทางเลือกเพื่อการพัฒนาประเทศอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของกลุ่มประเทศโลกที่สาม จากนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์หลายๆประเทศ โดยอาศัยรากฐานการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาว่า ภายใต้กระบวนการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียบางประเทศและประเทศแถบละตินอเมริกา ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแท้จริงหรือไม่แต่ผลปรากฎจากการที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วในทฤษฎีความด้อยพัฒนาและการพึ่งพิงนั้นก็พบว่าประเทศในโลกที่สามต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดมา การกระจายความเจริญกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง ความมั่งคั่งก็ตกอยู่กับผู้นำประเทศเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ความยากจนของประชาชนในชนบทก็ยังปรากฏอยู่ทั่วไป ถึงแม้ผู้นำประเทศจะพยายามแสดงให้เห็นถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการพิจารณาจากรายได้ประชาชาติ ซึ่งเป็นการมองเพียงภาพรวมระดับประเทศที่มิได้คำนึงถึงความเป็นจริงระดับบุคคลว่า รายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระจายไปทุกระดับหรือไม่ (อาคม ใจแก้ว, 2534 : 75) แนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองเป็นสิ่งที่นักพัฒนาและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ชุมชนชนบทควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
กระบวนการมีส่วนร่วม
 
   กระบวนการมีส่วนร่วมนับเป็นหัวใจสําคัญของการพัฒนาในทุกระดับเป็นการเปิดโอกาสใหประชาชนร่วมคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ การวางแผน การปฏิบัติตามแผน การติดตามประเมินผลในกิจกรรม/โครงการของชุมชน เป็นการสร้าง ปลูกฝังจิตสํานึกในความเป็นเจ้าของกิจกรรมและโครงการ แนวคิดกระบวนการมีส่วนร่วม ปัจจุบัน แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพัฒนา (People Paticipation for Development) ได้รับการยอมรับและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในงานพัฒนาทุกภาคส่วนหรือในลักษณะเบญจภาคี ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และประชาชน รวมพลังกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ความหมายของการมีส่วนร่วม Cemer (Priticia Lundy, 1999, หน้า 125) กล่าวว่า "การให้โอกาสให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสิน กําหนดความต้องการของตนเองเป็นการเสริมพลังอํานาจใหประชาชน ระดมขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากร การตัดสินใจ และควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับการพัฒนาเพียงฝ่ายเดียว" (กระบวนการและเทคนิคการทํางานของนักพัฒนา หน้า 196) สําหรับสายทิพย์ สุคติพันธ์ (2534 หน้า 92) กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกในการพัฒนาจากการพัฒนาโดยรัฐ มาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีบทบาทหลัก การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงหมายถึงการคืนอํานาจ (Empowerment) ในการกําหนดการพัฒนาใหประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการริเริ่มและดําเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่การพัฒนา การแก้ไขปัญหา การกําหนดอนาคตของประชาชนเอง การมีส่วนร่วมของ HO (1983 หน้า 32) ให้ความเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนควรมีเนื้อหาประกอบด้วย 1. การเน้นคุณค่าการวางแผนระดับท้องถิ่น 2. การใช้เทคโนโลยี/ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น 3. การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพประชาชนให้สามารถดําเนินการพัฒนาด้วยตนเองได้ 4. การแก้ไขปัญหาของความต้องการพื้นฐานโดยสมาชิกชุมชน 5. การเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามแบบประเพณีดั้งเดิม 6. การใช้วัฒนธรรมและการสื่อสารที่สอดคล้องกับการพัฒนาโดยใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค?และความชํานาญของประชาชนร่วมกับวิทยากรที่เหมาะสมและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานด้วย