วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


เศรษฐกิจชุมชน : ความหมาย ฐานคิด แนวทางปฏิบัติ

         ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่กลางปี 2540 และพระราชดำรัสของในหลวง ซึ่งพระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ประกอบกับปรัชญาของแผนฯ 8 ที่เน้นการพัฒนา “คน” และรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อ “ชุมชนท้องถิ่น” ได้สร้างกระแสอย่างกว้างขวางให้สังคมกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนของชุมชนในชนบท
         ในช่วงปี 40 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศไมได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในชนบท หรือ “เศรษฐกิจของฐานล่าง” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของประชากรส่วนใหญ่ จึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
         ดังนั้น ควรเร่งปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับพระราชดำรัสที่ว่า “มันต้องถอยหลังเข้าคลอง มันจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนมากนักคือ ใช้เครื่องมือที่ไม่หรูหรา….ต้องถอยหลังเพื่อจะก้าวหน้าต่อไป” โดยการพัฒนา “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” ตามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่”
ทฤษฎีใหม่         หลักสำคัญของ “ทฤษฎีใหม่” มี 3 ขั้นตอนคือ
         ขั้นที่ 1 (พอเพียงในระดับครอบครัว) : ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวเองได้ระดับชีวิตที่ประหยัดก่อนผลิต เพื่อให้บริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น
         ขั้นที่ 2 (พอเพียงในระดับชุมชน) : ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา และศาสนา
         ขั้นที่ 3 (พอเพียงในระดับประเทศ) : ติดต่อร่วมมือกับองค์กรธุรกิจ เช่น แหล่งเงิน (ธนาคาร) และแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) เป็นต้น ในการทำธุรกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัทจะได้รับประโยชน์
         ที่มา : พระราชดำรัส : คู่มือการดำเนินชีวิตสำหรับประชาชน ปี 2541 และทฤษฎีใหม่
ความหมาย         เศรษฐกิจชุมชนที่พึงปรารถนา คือกิจกรรมเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ที่คนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ โดยการพัฒนาจากฐานของ “ศักยภาพของท้องถิ่น” หรือ “ทุนในชุมชน” ซึ่งร่วมถึงเงินทุน แรงงาน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ วัด ที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทาง   ชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ฯลฯ
         เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ซึ่งจะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น